เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีทดสอบ ATK ที่จำหน่ายในประเทศไทยสามารถตรวจจับโอมิครอนได้หรือไม่ และรวดเร็วเท่าใด แตกต่างจาก ATK ที่จำหน่ายในต่างประเทศหรือไม่นั้น โดยระบุว่า หลังจากที่ทีมวิจัยสามารถแยกเชื้อไวรัสโอมิครอนได้เป็นผลสำเร็จ เราจึงปรับค่าปริมาณไวรัสให้เหมาะสมโดยใช้ ATK เราใช้ชุดตรวจดังกล่าวตรวจสอบไวรัสต้นแบบโอมิครอนที่แยกได้ในประเทศไทย ปรับปริมาณไวรัสให้สามารถตรวจวัดได้แบบไม่เข้มเกินไป เพื่อจะสามารถเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่น ๆ ในประเทศไทยได้ เราใช้ปริมาณไวรัสที่เท่ากันนั้นเปรียบเทียบกับชุดตรวจที่หาได้ 11 ยี่ห้อ และตรวจวัดพร้อมกันโดยใช้น้ำยาที่ได้มาจากชุดตรวจแต่ละชนิด ผลการทดสอบพบว่า
1.ชุดตรวจ 9 ใน 11 ยี่ห้อที่นำมาทดสอบสามารถตรวจวัดโอมิครอนได้ มีแถบขึ้นที่ T ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า อีก 2 ยี่ห้อไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าไม่มีความจำเพาะต่อโอมิครอน หรือระดับการตรวจวัดยังไม่ไวเท่าชุดตรวจอื่น ๆ แสดงว่าชุดตรวจส่วนใหญ่สามารถมีความจำเพาะต่อโอมิครอนได้ กรณีที่มีปริมาณไวรัสเพียงพอ ทุกยี่ห้อที่ได้ผลบวกมาน่าจะตรวจวัดได้ทั้งหมด
2.ระดับความไวของการตรวจวัดพบว่ามีความแตกต่างกัน ได้เกรดออกเป็น
– A คือ มีความไวสูงตรวจได้ชัดเจนดีมาก
– B คือ มีความไวระดับดี
– C คือ กลุ่มที่ได้ผลบวกที่เห็นได้ แต่จะจางลง
– D คือ กลุ่มที่มีความไวต่ำ แบนออกมาจาง ๆ
– E คือ ไม่สามารถเห็นแถบที่ T ได้เลยซึ่งอาจจำเป็นต้องทดสอบเพิ่มเติมเนื่องจากว่าการทดสอบนี้ไม่ได้ทำขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ทำเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ATK ที่หาได้ในท้องตลาดไม่ได้มีคุณภาพแตกต่างกันมาก สามารถใช้ตรวจวัดโอมิครอนได้ไม่แตกต่างกัน ATK ทุกยี่ห้อสามารถตรวจจับโควิดทุกสายพันธุ์ได้ เนื่องจากในชุดตรวจ ATK มีโปรตีนค่อนข้างเสถียร สามารถตรวจหาเชื้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีชุดตรวจชนิดใดที่รับรองว่าตรวจแยกสายพันธุ์ได้