แม้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จะกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเภสัชกรในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการผ่อนปรนเรื่องนี้มาเป็นระยะ ๆ เริ่มจาก พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 4) 2527 ผ่อนปรนการมีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลาเปิดทำการไปถึง 30 ก.ย. 2529 จากนั้นก็ได้ออกกฎกระทรวงร้านขายยา พ.ศ. 2556 เพื่อเปิดโอกาสร้านขายยาได้ปรับตัวอีก 8 ปี ซึ่งการผ่อนผันดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
นายกสภาเภสัชกรรมย้ำว่า สำหรับนโยบายและแนวทางของสภาเภสัชกรรม หลังจาก 25 มิ.ย.เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ (พ.ย.) สภาเภสัชกรรมได้มีการย้ำเตือนเรื่องนี้มาตลอด และได้ร่วมกับ 8 เครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม และศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย 19 สถาบัน แถลงจุดยืนของวิชาชีพ ต่อกรณีการมีเภสัชกรปฏิบัติการ ประจำร้านขายยาเต็มเวลาที่เปิดให้บริการ การที่เภสัชกรแขวนป้ายปฏิบัติการไว้ แต่ไม่ไปทำหน้าที่ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามจรรยาบรรณวิชาชีพ หลังจาก ต.ค. 2565 เป็นต้นไป หากเภสัชกรยังไม่ปฏิบัติตามที่ กฎหมายกำหนด สภาเภสัชกรรมจะถือว่าผิดจริยธรรมและมีการลงโทษพักใบอนุญาต 2 ปี
ร้านยา เป็นจุดแรกที่คนเจ็บป่วย 70-80% ไปเมื่อเจ็บป่วย ดังนั้น ร้านยา ต้องมีเภสัชกรประจำร้าน เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลผู้ที่เข้ามาใช้บริการให้เขาไม่เกิดปัญหาหรือใช้ยาผิด ๆ ต้องซักอาการเบื้องต้น ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องของการใช้ยา ไม่ใช่ว่าขาย ๆ ไปแล้วก็จบจากนี้ไปร้านขายยาที่เปิดให้บริการ ต้องมีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลาทำการ หรือกรณีที่ร้านมีเภสัชกรประจำร้านอยู่เพียง 3 ชั่วโมง ก็ควรจะเปิดร้านแค่ 3 ชั่วโมง ไม่ใช่เปิดทั้งวัน หรือมีเภสัชกร ประจำกี่ชั่วโมงก็เปิดเท่านั้น หากประชาชนเห็นหรือพบว่า ร้านขายยาร้านไหนไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ประจำร้าน มีแต่ป้ายชื่อแขวนไว้ ก็สามารถแจ้งหรือร้องเรียนมาที่สภาเภสัชกรรมได้