วันที่ 6 เมษายน 2565 เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีร้านขายยาทั่วประเทศ ที่ร่วมเป็นหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านแล้วกว่า 700 แห่ง ขึ้นทะเบียน เป็นหน่วยบริการกับ สปสช.แล้ว 440 แห่ง ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน
สำหรับอัตราค่าบริการจะเป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 700 บาทต่อราย ครอบคลุมบริการ ดังนี้
1.บริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน
2.ค่ายาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รวมค่าบริการจ่ายยากรณีที่แพทย์สั่งจ่ายเฉพาะในการดูแลผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่จำเป็นต้องได้รับตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยรวมค่าจัดส่งยา
3.ค่าบริการให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ยา และติดตามอาการผู้ติดเชื้อเมื่อครบ 48 ชั่วโมงแรก
4.การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเพิ่มเติมแบบเหมาจ่ายในอัตรา 150 บาท สำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ติดต่อกลับร้านยาเพื่อขอรับคำปรึกษาหลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว โดยก่อนให้บริการจะมีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการเพื่อยืนยันการเข้ารับบริการ และบันทึกข้อมูลการให้บริการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ระบบบริการการแพทย์ทางไกล
ปัจจุบันร้านยาในโครงการนี้สามารถให้บริการได้เฉพาะสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับรักษาบุคคล 3 สิทธิ แต่ยังไม่รวมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ดังนั้นเชิญชวนไปยังสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อำนวยความสะดวกและเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ผู้ประกันตน สามารถติดต่อไปที่สภาเภสัชกรรมเพื่อหารือแนวทางการร่วมมือกันต่อไปได้
วิธีการสังเกตร้านยาที่ร่วมระบบว่า สามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ที่หน้าร้านยาซึ่งจะมีข้อความว่า สถานบริการเภสัชกรรมชุมชน และบรรทัดล่างจะเขียนว่า เครือข่ายเภสัชกรอาสาปรึกษาโควิดผ่านระบบเภสัชกรรมทางไกล และยังสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาได้ที่เว็บไซต์ สปสช.ได้เลย