วันที่ 8 มีนาคม 2565 ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2 นั้นกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศไทยและมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.1 เห็นได้จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2565 ในผู้ติดเชื้อ 1,905 ราย เป็นสายพันธุ์โอมิครอนถึง 99.63% และจากการตรวจสายพันธุ์ย่อย 1,802 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง 51.8% สะท้อนถึงความเร็วในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ BA.2
สำหรับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2 นั้น เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยมีการพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 และมีการระบาดในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ เดนมาร์ก อินเดีย เยอรมนี สวีเดน รวมถึงประเทศไทยในปัจจุบัน
ด้านการแพร่เชื้อนั้น ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 จะมีโอกาสแพร่เชื้อต่อได้สูงกว่าผู้ติดเชื้อ BA.1 อยู่ 1.4 เท่า เช่นเดียวกับโอกาสการติดต่อกันในครัวเรือนที่สูงกว่า BA.1 โดยหากมี 1 คนในครอบครัวติดเชื้อ BA.2 จะสามารถแพร่ต่อให้คนอื่นในครอบครัว 39% มากกว่า BA.1 ที่แพร่ให้คนในครอบครัว 29%
ด้านความรุนแรงของอาการป่วยของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 นั้น ไม่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 สอดคล้องกับรายงานขององค์กรอนามัยโลกที่ระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าอาการของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 รุนแรงกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1ทั้งนี้อ้างอิงตามข้อมูลบทความวิชาการเรื่อง Virological characteristics of SARS-CoV-2 BA.2 variant โดย Daichi Yamasoba และคณะ และบทความวิชาการเรื่อง Transmission of SARS-CoV-2 Omicron VOC subvariants BA.1 and BA.2: Evidence From Danish Households โดย Frederik Plesner และคณะ